วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ปาฐกถา 14 ตุลา 2550 :“จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 วิกฤตประชาธิปไตยไทย”

รายงานปาฐกถานี้นำมาจากเวปไชน์ประชาไท โดยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2550 รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์ปาฐกของงานปาฐกถา 14 ตุลาประจำปี 2550 กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 วิกฤตประชาธิปไตยไทย’ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน เนื้อหาส่วนใหญ อ.เกษียร จะหยิบมาจากงานวิจัยเรื่อง "จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 : วิกฤตประชาธิปไตยไทย" ของอาจารย์ที่ทำให้กับศูนย์วิจัยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือประกอบการปาฐกถาครั้งนี้โดยมูลนิธิ 14 ตุลา โดยการปาฐกถา มีเนื้อหาประกอบด้วย
หนึ่ง เปรียบเทียบการปฏิวัติ 2475 กับ 2516
สอง ปมปริศนาของการปฏิวัติกระฎุมพีในประเทศกำลังพัฒนา
สาม จาก 2475 ผ่าน 14 ถึง 6 ตุลา
สี่ พฤษภาประชาธรรมกับวิกฤตโลกาภิวัตน์ไทย
ห้า รัฐประหาร 19 กันยา 2549
หก สรุปการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 3 แนวทาง(พื้นที่ประชาชน ความหวังอันริบหรี่)





ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2550

“จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 วิกฤตประชาธิปไตยไทย”


โดย รศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ








สวัสดีครับ ท่านคณะกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา คณาจารย์ ญาติมิตร และบุตรสหาย ของวีรชน 14 ตุลา ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ



ก่อนอื่น ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง ที่กรุณาให้เกียรติและให้โอกาสผมมาปาฐกถา 14 ตุลาประจำปีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์หลังรัฐประหาร ภายใต้ระบบเผด็จการครึ่งใบ และรัฐธรรมนูญกึ่งอำมาตยาธิปไตย ก่อนการเลือกตั้ง ที่ไม่เพียงแต่เป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงในรอบ 15 ปีสำหรับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยหลัง 14 ตุลา 2516 ยังเป็นช่วงของความอึมครึม สับสนทางอุดมการณ์ การเมือง และศีลธรรม อย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 34 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลา



หากเปรียบกับวิกฤตการล่มสลายของ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) และอุดมการณ์สังคมนิยมทั้งไทยและสากล จากกลางทศวรรษที่ 2520 ถึงกลางทศวรรษ 2530 ตอนนั้น แม้สังคมนิยมคอมมิวนิสต์จะกลายเป็นปัญหา แต่อย่างน้อย ประชาธิปไตยก็ยังไม่เป็นปัญหา การจำแนกมิตร-ศัตรูของประชาธิปไตยก็ยังชัดเจนอยู่ และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับหนทางข้างหน้า ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของกระบวนการสร้างและผลักดันประชาธิปไตยต่อไปก็ค่อนข้างมีฉันทามติสอดคล้องกัน



หรือเราสมควรกล่าวว่า หน่ออ่อนของปมปริศนาประชาธิปไตยปัจจุบัน ก็เริ่มแสดงเค้าล้างให้เห็นบ้างแล้ว ในแง่ที่ผู้นำกองทัพสมัยนั้น ในกลาง 2520 ถึง 2530 ออกมาประณามเผด็จการรัฐสภาของนายทุน และป่าวร้องสรรเสริญประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของทหาร และข้าราชการประจำไม่ได้แยกจากข้าราชการการเมือง



ทว่า เหตุการณ์ท้ายนี้ ที่ภายใต้ระบอบทักษิณ และอำนาจรัฐประหารของ คปค. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา การณ์กลับกลายเป็นว่า การวิวาทะถกเถียงในสังคมวงกว้าง, ขบวนการประชาชนเอง รวมศูนย์ที่ปัญหาว่า อะไรกันแน่คือแก่นของสาระประชาธิปไตยที่แท้จริง ใครกันแน่คือมิตร-ศัตรูของประชาธิปไตย แล้ววิสัยทัศน์หรือหนทางข้างหน้า ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของการจะสร้างประชาธิปไตยในเมืองไทยจะทำอะไรดี



พูดอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น อาทิ การคัดค้านต่อต้านรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้งและกุมเสียงข้างมากในสภา ทว่าผูกขาดอำนาจโดยกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งพบเห็นว่าทุจริตและละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นการปกปักษ์รักษา หรือบ่อนทำลายประชาธิปไตยกันแน่ ในทางกลับกัน รัฐประหาร 19 กันยา 2549 หรือรัฐประหาร คปค. เป็นการทำลายและฉุดดึงประชาธิปไตยให้ถอยหลัง หรือเป็นมาตรการสุดท้ายอันจำเป็นเพื่อกอบกู้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้พ้นภัยเผด็จการทุนนิยมของระบอบทักษิณ



รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 2550 เป็นการขยายสิทธิเสรีภาพประชาชนครั้งใหญ่ ปฏิรูปปรับปรุงประชาธิปไตย หรือเป็นการฟื้นฟูระบอบเลือกตั้งทั่วไปขึ้นมา ภายใต้การชี้นำกำกับของอำนาจตุลาการ หน่วยกองสาขาของกองทัพแผ่นดิน



และสุดท้าย การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปปลายปีนี้ จะนำไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของสังคมบ้านเรา หรือจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคอันอ่อนแอ บนฐานระบบราชการประจำที่อิสระกว่าก่อนจนยากบริหารจัดการท้าทาย หรือรับโอกาสใหม่ๆ ของโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้



น้อยครั้งนักที่ขาวกับดำจะคลุมเครืออุดมการณ์เข้าหากันเป็นเทาไปทั่วขบวนการประชาชนเท่าครั้งนี้ แล้วใครกันแน่ที่เป็นมิตรหรือศัตรูของผู้ที่ปักใจมั่นว่าจะยืนอยู่กับมรดกประชาธิปไตยของประชาชน ทักษิณ หรือสนธิ ...ทั้งลิ้ม และบังนะครับ สมัครหรืออภิสิทธิ์ พีทีวี หรือเอเอสทีวี ทุนใหญ่ผูกขาด หรือขุนศึกศักดินา



พื้นฐานปาฐกถา 14 ตุลาประจำปีนี้ มาจากงานวิจัยเรื่อง "จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 : วิกฤตประชาธิปไตยไทย" ซึ่งผมทำให้กับศูนย์วิจัยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือประกอบการปาฐกถาครั้งนี้โดยมูลนิธิ 14 ตุลา



งานวิชาการ ถูกจัดทำขึ้นด้วยระเบียบวิธีการอันเป็นกรอบอันบังคับให้รอบคอบ รัดกุม ตามธรรมเนียมวิชาชีพ มีการอ้างอิงข้อมูล ข้อเท็จจริง สถิติ ตัวเลข รายงานข่าว คำสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์ ความเห็นต่างๆ มารองรับ กำกับ ประกอบ การแสดงทัศนะวิเคราะห์ วิจารณ์ วินิจฉัย ไม่ให้เลื่อนลอย โดยงานชิ้นนี้ ผมใช้เวลาทำ 1 ปี จากกลางปี 2549 ถึงปีปัจจุบัน



ต้นฉบับยาว 100 หน้ากระดาษเอ 4 มีเชิงอรรถ 162 แห่ง อ้างอิงเอกสารและข้อมูล ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ทั้งสิ้น 200 รายการ แบ่งคร่าวๆ เป็น เนื้อหาปูมหลัง เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม 35 หน้า ระบอบทักษิณ 40 หน้า ลักษณะของ คปค.และรัฐบาลสุรยุทธ์ 25 หน้า



ในงานวิชาการ มันไม่มีวันสมบูรณ์แบบและย่อมมีข้อบกพร่อง มีประเด็นข้อเท็จจริง ข้อวิเคราะห์ที่โต้แย้งได้ แต่อย่างน้อย ผมก็หวังว่ามันจะช่วยให้เข้าใจแง่มุมต่างๆ หรือเนื้อแท้ของปัญหาวิกฤตประชาธิปไตยที่เรากำลังเผชิญ มิใช่เพื่อเสนอทางออกสำเร็จรูป เพราะคำตอบแบบนั้น 'ไม่มี' แต่เพื่อให้พวกเรา ผู้รับทอดมรดกประชาธิปไตยจากวีรชน 14 ตุลา จะค่อยๆ หาทางขบแก้ทั้งทางความคิดและทางปฏิบัติต่อไป



ในที่นี้ ผมจึงตั้งใจดึงเอานัยยะทางการเมืองที่สำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ออกมาเรียบเรียงใหม่ เพื่อนำเสนอให้เหมาะกับโอกาสในเวลาจำกัด โดยแบ่งกลุ่มหัวข้อต่างๆ มีทั้งหมด 6 หัวข้อ ดังนี้



หนึ่ง เปรียบเทียบการปฏิวัติ 2475 กับ 2516

สอง ปมปริศนาของการปฏิวัติกระฎุมพีในประเทศกำลังพัฒนา

สาม จาก 2475 ผ่าน 14 ถึง 6 ตุลา

สี่ พฤษภาประชาธรรมกับวิกฤตโลกาภิวัตน์ไทย

ห้า รัฐประหาร 19 กันยา 2549

หก สรุปการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 3 แนวทาง



..ผมอยากจะเริ่มโดยบทสรุปก่อน เพื่อให้เห็นว่าแก่นของมันคืออะไร



75 ปีหลัง 2475 และ 34 ปีหลัง 2516 กระบวนการปฏิวัติกระฎุมพีไทยมาถึงทางแพร่งที่ตาบอดคนละข้าง แล้วแยกทางกันเดิน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ การปฏิวัติกระฎุมพีไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปจากแนวทางตุลาคมของขบวนการพฤษภาประชาชน 14 - 6 ตุลา ซึ่งต้านทั้งรัฐราชการเผด็จการ และต้านอำนาจทุน ไปเป็น..



หนึ่ง แนวทางพฤษภาคม ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งต้านรัฐบาลเผด็จการศักดินาด้านเดียว



สอง แนวทางกันยายน ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งต้านอำนาจทุนด้านเดียว



จริงๆ แล้ว แก่นสารที่ผมอยากจะพูด มันเหมือนกับแก่นสารในปีนี้ของปาฐกถา 6 ตุลา ของ อ.จอน อึ๊งภากรณ์เด๊ะเลย เพียงแต่ว่าที่ผมพูดมันเป็นวิชาการมากหน่อย และการที่เป็นวิชาการมากหน่อย มันก็เลยเยิ่นเย้อกว่า และยุ่งยากกว่า กล่าวคือ อ.จอนขอให้คนเดือนตุลา คงเส้นคงวาบ้าง สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ผมพยายามเสนอระบบทางการเมือง และโอกาสทางภววิสัยของความ 'ไม่คงเส้นคงวา' ทางอัตวิสัยของคนเดือนตุลาและกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ในสังคมไทย



ในประเทศทุนนิยม 'การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย' กับ 'การต่อสู้เพื่อสังคมนิยม' เชื่อมโยงกัน มันมีพลวัติต่อเนื่องกัน ไม่ว่าจะพูดถึงว่า สิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรมในสังคม ในประเทศทุนนิยมพัฒนาเสรี การต่อสู้มันมีความเชื่อมโยง มีนัยยะที่ผลักเข้าหากัน



ในที่นี้ ผมอยากเสนอหลักคิด โดยยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ของพลวัตดังกล่าว การต่อสู้ของทั้งสอง ('การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย' กับ 'การต่อสู้เพื่อสังคมนิยม') ผมใคร่เสนอว่า ได้หลอมรวมเข้าด้วยกัน เป็นการต่อสู้เดียวและขบวนการเดียว หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยการที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนในเมืองที่ถูกปราบปรามในเหตุการณ์ 6 ตุลา ยกธงเข้าป่า ร่วมกับขบวนการต่อสู้ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย



ทว่าไม่กี่ปีให้หลัง ป่าก็แตก แล้วการต่อสู้ทั้งสองก็แยกทางกันภายใต้สถานการณ์ใหม่ เป็นสถานการณ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในประเทศ และขบวนการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศปราชัย ขณะเดียวกัน ก็มีสิ่งเกิดใหม่ในเหตุการณ์ 2 ประการ คือ



หนึ่ง พระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน และสอง ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์



นี่คือสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากป่าแตก อย่างไรก็แล้วแต่ โลกาภิวัตน์ไมได้ราบรื่นตลอด วิกฤตจากโลกาภิวัตน์ก็เกิดขึ้นในปี 2540 และหลังจากนั้น ได้เกิดความสัมพันธ์ของเสาหลักของสถานการณ์ใหม่ทั้งสอง และเปิดมิติใหม่ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสังคมนิยมขึ้นมา มิติใหม่และพลวัตใหม่นี้เองที่นำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549





หนึ่ง : เปรียบเทียบการปฏิวัติ 2475 กับ 2516

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ มีเหตุการณ์สำคัญที่ถูกเรียกว่าเป็นการปฏิวัติกระฎุมพี ได้แก่ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และสอง การลุกฮือของนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม 2516



กรณีแรก 24 มิถุนา 2475 เช่น เพลงมาร์ช มธก.ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยทวีป วรดิลก ซึ่งแต่งขึ้นในช่วงทศวรรษ 2490 เพลงนี้เลือกใช้ทำนองเพลงลา มาร์แซร์แยส (La Marseillaise) ซึ่งเป็นเพลงชาติฝรั่งเศส ที่ถือกำเนิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1789 เลือกอย่างจงใจ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและมิติทางประวัติศาสตร์ จากคำให้สัมภาษณ์ของคุณทวีป วรดิลก ซึ่งบอกผมไว้ก่อนท่านสิ้นชีวิต



ถ้าท่านยังจำได้ เนื้อเพลงวรรคแรก...



...อันธรรมศาสตร์สืบนามความสามัคคี ร่วมรักในสิทธิศรีเสรีชัย

สัจธรรมนำเราเร้าในดวงใจ โดมดำรงธงชัยในวิญญาณ...



เนื้อนั้น แต่งขึ้นใหม่ แต่ทำนองมาจากเพลงลา มาร์แซร์แยส



...Allons enfants de la Patrie Le jour de gloire est arrivé !

Contre nous de la tyrannie L'étendard sanglant est levé...



...มาเถิด ลูกหลานของประเทศชาติ วันรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว

เราควรเผชิญหน้ากับความกล้า ธงที่ชุ่มด้วยเลือดได้ถูกเชิดชูขึ้น...





เป็นการเล่นกับเพลง เพราะเหตุการณ์ 2475 เปรียบได้กับการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789



ผมเคยพบหนังสือภาษาไทยเก่าเล่มหนึ่ง เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 ในหอสมุดแห่งชาติโดยบังเอิญ ผมเจอหลัง 14 ตุลา 2516 อ่านคำนำ พบว่าหนังสือเล่มนั้นตีพิมพ์หลัง 2475 ไม่นาน ผู้เขียนชี้แจงไว้ตอนหนึ่งว่า ตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้านั้นไม่ได้ จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงได้พิมพ์ออกมารับกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป พูดได้อีกอย่างหนึ่งคือ ในเวลานั้น ผู้เขียน ซึ่งผมจำไม่ได้แล้วว่าเป็นใคร 2475 เปรียบได้กับ 1789



ผมเคยเขียนกลอนระลึกถึงอาจารย์ปรีดี ตอนที่ท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี 2526 ไว้ว่า



...ใช่ที่ว่าจุดหมายยังไม่ถึง ใช่ที่ว่าความฝันซึ่งยังต้องสร้าง

รัฐธรรมนูญยิ่งใหญ่ใส่พานวาง แต่ทวยราษฎร์เป็นเบี้ยล่างเสมอมา

แต่หากไร้คณะราษฎรสู้ ราษฎรคงอยู่เป็นไพร่ทาส

ก้าวแรกแห่งการล้มสมบูรณา เป็นก้าวสั้นแต่ทว่ายั่งยืนยาว...




ในกรณี 14 ตุลา 2516 ปรากฏในบทความของอาจารย์เบน แอนเดอสัน แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ชื่อบทความ “Murder and Progress in Modern Siam” หรือ “การฆาตกรรมทางการเมืองและความก้าวหน้าในสยามสมัยใหม่” มีข้อความตอนหนึ่งในบทความ ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ 1990 ความว่า พวกเรา หากลองนึกถึงปี 2516 ว่าเปรียบประดุจเป็น ค.ศ.1789 แห่งสยามแล้ว เราก็อาจมองช่วงระยะเวลาหลังจากนั้นทั้งหมดได้ในกรอบเพียงอันเดียว นั่นคือ กรอบการต่อสู้ของกระฎุมพี ที่ธำรงไว้ซึ่งอำนาจการเมืองใหม่ของตน ที่อยู่ในรูปสถาบันรัฐสภา จากภัยคุกคามทั้งซ้ายและขวา ทั้งภาคประชาชนและกลไกรัฐ



ในงานอีกชิ้นของครูเบน ซึ่งแปลเป็นไทยแล้ว ชื่อว่า “ศึกษารัฐไทย วิพากษ์ไทยศึกษา” พิมพ์ในฟ้าเดียวกัน เมื่อกรกฎาคม-กันยายน 2546 ภาษาอังกฤษตีพิมพ์เมื่อปี 1979 ครูเบนได้วิเคราะห์วิจารณ์เปรียบเทียบ 24 มิถุนา 2475 กับ 14 ตุลา 2516 ไว้ว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์สยาม อายุสั้นแค่ราว 40 ปี จากปี 2435 ถึง 2475 คือจากปลายรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เนื่องจากอายุสั้น จึงเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจไทยไปไม่มาก ไม่ลึกซึ้งพอ ฉะนั้น 24 มิถุนา ซึ่งเป็นผลผลิตของและปฏิกิริยาทางการเมืองต่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์สยาม จึงแคบและเล็ก เป็นเรื่องของข้าราชการทำ ไม่ค่อยมีมวลชนเข้าร่วม เป็นแค่กบฏข้าราชการครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ขุดรากถอนโคนรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์จริงจังอย่างที่สุด



2475 จึงเป็นปัญหาในรูปการณ์ใหม่ ในรูปรัฐราชการเผด็จการ หรือที่เรียกว่า อำมาตยาธิปไตย เทียบกันแล้ว การลุกฮือ 14 ตุลา 2516 เป็นผลผลิตของและปฏิกิริยาทางการเมืองต่อระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์เพื่อการพัฒนาของสฤษดิ์ ถนอม ประภาส นาน 15 ปี ระบอบดังกล่าว และแผนพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ระบอบนั้น เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมไทยลึกซึ้งกว่ามาก พลิกโฉมหน้าชนชั้นกระฎุมพีไทยไปสู่ระดับใหม่ทันที





สอง : ปมปริศนาของการปฏิวัติกระฎุมพีในประเทศกำลังพัฒนา

ปมปริศนาของการปฏิวัติกระฎุมพีในประเทศกำลังพัฒนา เกิดจาก ประการแรก สังคมเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลกนั้น พัฒนาไปไม่สม่ำเสมอกัน และมีลักษณะเชิงซ้อน กล่าวคือ ในขณะที่ตะวันตกพัฒนาจากสัตยาบันทุนนิยม การปฏิวัติกระฎุมพีล่วงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว เรากลับพัฒนาทุนนิยมทีหลัง



ประการสอง จักรวรรดิทุนนิยมตะวันตก แผ่เข้าครอบประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผ่านระบอบอาณานิคมทั้งเก่าและใหม่ ทำให้สังคมเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาทีหลัง หรือประเทศกำลังพัฒนา มีลักษณะที่สลับซับซ้อนกว่าประเทศทุนนิยม เผชิญปัญหาเชิงซ้อน คือเผชิญปัญหาทั้งความล้าหลังกดขี่แบบเก่าของรัฐเผด็จการศักดินา และการขูดรีดข่มเหงแบบใหม่ของกลุ่มทุนต่างชาติที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนในประเทศ



ฉะนั้น การปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพีไทยแบบคลาสสิก ที่ถือภารกิจโค่นรัฐเผด็จการศักดินา ช่วงชิงสิทธิเสรีภาพของประชาชนล้วนๆ จึงไม่สอดคล้องกับปัญหาความเป็นจริงที่ประสบในประเทศที่กำลังพัฒนาทีหลังหรือกำลังพัฒนา และถูกมองว่า ไม่เพียงพอ



ในทางปฏิบัติแล้ว การต่อสู้มักจะถลำลึกไปเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ที่มีภารกิจเชิงซ้อน คือควบรวมทั้งภารกิจปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี ต่อต้านรัฐเผด็จการศักดินา เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ควบรวมเข้ากับภารกิจปฏิวัติสังคมนิยมที่ต่อต้านเศรษฐกิจทุนนิยม เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม หรือสังคมนิยม เข้าด้วยกัน





สาม : จาก 2475 ผ่าน 14 ถึง 6 ตุลา

กระบวนการปฏิวัติกระฏุมพีไทยก็เกิดปมปริศนานี้ และมีปฏิกิริยาตอบโต้ในการเมืองไทยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมขอยกตัวอย่างสามกรณี



หนึ่ง 'ปรีดี พนมยงค์' ในการปฏิวัติ 2475 อ.ปรีดีเสนอหลักคณะราษฎรหกข้อ ข้อสามระบุว่า จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ในที่สุด เพียงช่วงเวลาไม่ถึงปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อ.ปรีดีก็นำเสนอเค้าโครงทางเศรษฐกิจ 2475 ซึ่งในทัศนะของผม คือลัทธิสหกรณ์โดยรัฐแบบสมานฉันท์ ที่ยังคงหลีกเลี่ยงการพัฒนาแบบทุนนิยม ก็เห็นแล้วว่าการพัฒนาแบบทุนนิยมมันมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1930 ทำไมเราจะเดินเส้นทางที่พลาดไปแล้วของประเทศทุนนิยมอีก



อ.ปรีดี เสนอเค้าโครงทางเศรษฐกิจ ได้พูดถึงตอนหนึ่งว่า



“ก็เมื่อการที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองเช่นนี้ เป็นการที่ทำให้วัตถุประสงค์ทั้งหกประการของคณะราษฎรได้สำเร็จไปตามที่ได้ประกาศแก่ราษฎรไว้แล้ว สิ่งที่ราษฎรทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า ศรีอริยะ ก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรโดยถ้วนหน้า ไฉนเล่า พวกเราที่ได้พร้อมใจกันไขประตู (ยึดอำนาจ) เปิดช่องทางให้แก่ราษฎรแล้ว จะรีๆ รอๆ ไม่นำราษฎรต่อไปให้ถึงต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งราษฎรจะได้เก็บผลเอาจากต้นไม้นั้น คือผลแห่งความสุขความเจริญ ดั่งที่ได้มีพุทธทำนายกล่าวไว้ในเรื่องศาสนาพระศรีอารีย์”



สอง 'พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย' เสนอภารกิจปฏิวัติประเทศไทยในลักษณะปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ หรืออีกนัยหนึ่ง ปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพีนั่นแหล่ะ แต่มีชนชั้นกรรมาชีพหรือกรรมกรอุตสาหกรรมเป็นกองหน้า ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งถ้าการปฏิวัติกระฎุมพี ให้กรรมกรเป็นกองหน้า แล้วพรรคคอมมิวนิสต์นำ มันก็มุ่งสู่สังคมนิยมโดยตรง โดยไม่ผ่านเส้นทางการพัฒนาแบบทุนนิยม



สาม 'เสกสรรค์ ประเสริฐกุล' เคยให้สัมภาษณ์สะท้อนสภาพทางความคิดของนักศึกษากิจกรรมหลัง 14 ตุลา 2516 ไว้ว่า



“…ทีนี้พอหลัง 14 ตุลา ขบวนการลงสู่ชนบทเผยแพร่ประชาธิปไตยนี่ มันพาเราไปสู่ทางซ้ายโดยไม่ทันตั้งตัวเลย เพราะเราจะไปเผยแพร่ประชาธิปไตยนี่ มันกลายเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับคนที่ยากไร้ เขาถูกรุมล้อมด้วยปัญหา ปัญหาไม่เป็นธรรม ถูกข่มเหงรังแกโดยผู้ที่มีเครื่องแบบมีอำนาจ พอรู้ปัญหาเหล่านั้น เราก็เอามาเสนอกับทางรัฐบาล มาประท้วงบ้าง มาเสนอให้แก้ไข มาประสานกับทางรัฐบาลบ้าง เสนอไปมากๆ เราชักเวียนว่ายอยู่กับปัญหาเหล่านั้น ไม่มีเวลามาคิดถึงประชาธิปไตยแล้ว รูปแบบการประท้วง หรือว่าการเอาปัญหาเหล่านั้น มาเสนอโดยตัวของมันเองนี่ มันทำให้เรากลายเป็นซ้ายโดยอัตโนมัติ เช่น ปัญหาค่าแรง หรือว่าปัญหาที่ดิน อย่างนี้ ในทัศนะของผู้ปกครอง เขาก็ว่าเราเป็นซ้ายไปแล้วโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว…”



มันเป็นความเชื่อมโยงกัน เป็นข้อที่ต่อเนื่องกัน ระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย หรือการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม



การฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ส่งผลก่อเกิดปฏิกิริยาหลอมรวมสองการปฏิวัติ หลอมรวมกระบวนการ คือหลอมรวมการปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี กับการปฏิวัติสังคมนิยมกรรมาชีพ และหลอมรวมการประท้วงของนักศึกษาปัญญาชนในเมืองกับขบวนการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ในชนบทเข้าด้วยกัน



ด้วยกระบวนการนี้ พอเกิดเหตุ 6 ตุลา ก็หลอมรวมนักศึกษาเข้าป่า ไปเจอชาวนาที่เราไม่เคยรู้จัก เป็นสหายร่วมป่า ห้าปีต่อมา ขบวนการหลอมรวมแนวร่วมนี้แตกกระจาย พคท. ล่มสลาย นักศึกษาปัญญาชนออกจากป่าคืนเมือง คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับภารกิจการปฏิวัติทั้งสองประการนี้?



ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังป่าแตก การปฏิวัติสังคมนิยมหรือการต่อต้านทุนนิยมล้มเลิก ท่ามการวิกฤตการณ์อุดมการณ์ระบอบสังคมนิยมทั่วโลกเปลี่ยนรูปไป เป็น 'การเมืองภาคประชาชน เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ใต้พระราชอำนาจนำ' ที่มีนัยยะวิพากษ์วิจารณ์ด้านที่สุดขั้วรุนแรงของทุนนิยม และเสนอตัวเป็นทางเลือกของชุมชน ภายใต้ระบอบทุนใหม่



ภารกิจปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพีต่อต้านเผด็จการ พ่ายแพ้ เปลี่ยนรูปไปเป็นความพยายามปฏิรูปรัฐราชการใต้พระราชอำนาจนำ อีกนั่นแหล่ะ ซึ่งก็คลี่คลายขยายตัวไปในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรม และระบอบเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อนที่จะเผชิญกับปฏิกิริยาตอบกลับของพลังราชการเผด็จทหารในรูปรัฐประหาร รสช.ปี 2534





สี่ : พฤษภาประชาธรรม กับวิกฤตโลกาภิวัตน์ไทย

ขบวนการพฤษภาประชาธรรม 2535 ดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้เอาไว้ ในบทความชื่อ ‘ชาตินิยมของขบวนการประชาธิปไตย’ มีความแตกต่างจาก 14 ตุลา 2516 แตกต่างตรงลักษณะ เจตจำนง และพลวัตต่อมา เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพีล้วนๆ ปลอดเปล่ามิติของภารกิจต่อต้านทุนนิยม หรือมุ่งหาสังคมนิยมเลยโดยสิ้นเชิง



หลัง 14 ตุลา นักศึกษาประชาชนเข้าสู่ท้องนา เชื่อมโยงกับองค์กรชาวนา หลังพฤษภาประชาธรรม ... ด้วยความเคารพ คนชั้นกลางเข้าสู่ตลาดหุ้น



นับจากนั้นมา การเมืองไทยเข้าสู่ระบอบเลือกตั้ง ภายใต้พระราชอำนาจนำ ที่ด้านหนึ่งพยายามปฏิรูปรัฐราชการอำนาจนิยมที่ล้าสมัย รวมศูนย์อำนาจ อีกด้านหนึ่ง พยายามปฏิรูปการเมืองเพื่อระบุแบบแผนระหว่างความสัมพันธ์ทางอำนาจ ระหว่างนักเลือกตั้งกับกลุ่มทุนใหญ่ ชนชั้นนำกลุ่มทุน ชนชั้นกลาง และประชาชนเสียใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากีดขวางการพัฒนาทุนนิยมในสภาพโลกาภิวัตน์สืบต่อไป นี่คือรูปการณ์ใหม่ของมิติต่อต้านรัฐราชการเผด็จการ ของภารกิจปฏิวัติกระฎุมพี



ในช่วงหลังพฤษภาประชาธรรม ขอบฟ้าแห่งความเป็นไปได้ในจินตนาการ หรือในวิสัยทัศน์ทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองหลังพฤษภา 35 ประกอบด้วยสองอย่าง ขอบฟ้า แปลว่าไกลที่สุดที่จะนึกได้ ไม่มีใครนึกไปไกลกว่านั้น ขอบฟ้าดังกล่าว คือ ‘ทุนนิยมโลกาภิวัตน์’ บวก ‘พระราชอำนาจนำ’



ขอบฟ้านี้เป็นพรมแดนของกระแสและกระบวนการปฏิรูปการเมืองหลังพฤษภา 35 ที่มีขึ้นเพื่อปรับระบบการเมืองการปกครองให้สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลง ช่วงชิงโอกาส รับมือการท้าทายจากสภาวะทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ และเพื่อธำรงรักษา และจรรโลงสถาบันกษัตริย์ให้มั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืน ภายใต้สภาพการณ์ใหม่ทางการเมือง ที่เปิดเสรี และเป็นประชาธิปไตยรัฐสภายิ่งขึ้น



ปฏิรูปการเมือง ขอบฟ้าอยู่แค่นี้ 'ทุนนิยมโลกาภิวัตน์' กับ 'พระราชอำนาจนำ' ไม่ไปไกลกว่านั้น



สิ่งที่ระลึกได้ตอนนี้คือ องค์ประกอบทั้งสองของขอบฟ้าการปฏิรูปนี้ จะตึงเครียด ขัดแย้งกันทุกด้านในอนาคต เพื่อจะได้ลิ้มลอง ต้องย้อนกลับสักเล็กน้อยเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์การเมืองไทย ผมคิดว่า อาจกล่าวได้ว่า ณ จุดใดจุดหนึ่ง ราวกลางทศวรรษ 2530 นั้น ชนชั้นนำไทยได้ยึดฉันทามติที่จะพาประเทศไทยไปสู่เส้นทางโลกาภิวัตน์ มันคงไม่ใช่การมาประชุมร่วมสมัชชาชนชั้นนำแห่งชาติที่ใดที่หนึ่งในครั้งเดียวอย่างเป็นทางการ มันไม่มีการประชุมแบบนั้น แต่มันเป็นผลสั่งสมจากการตัดสินใจจำนวนมากที่สำคัญๆ เช่น



การริเริ่มเปิดเสรีเศรษฐกิจและวัฒนธรรมการเมืองหลายด้านของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ชุดที่หนึ่งและชุดที่สอง ในปี 2534 และ 2535, การสร้างและเผยแพร่วาทกรรมโลกาภิวัตน์ต่อสาธารณชนอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง เป็นระบบ โดยปัญญาชนสาธารณะและกลุ่มทุนสื่อสารมวลชนในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผ่านเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ก่อน 2535 เป็นต้นมา, การตัดสินใจเปิดเสรีบัญชีทุน โดยจัดตั้งวิเทศธุรกิจกรุงเทพฯ ขึ้นมาในปี 2536 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เพื่อเป็นตัวกลางในการระดมทุนจากหลายประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงตลาดภายนอกเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ รวมทั้งการรับเอาวาระปฏิรูปการเมือง มาเป็นนโยบายหลักทางการเมือง ในการรณรงค์หาเสียงของพรรคชาติไทย และเมื่อเป็นรัฐบาล นายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดตั้ง สสร. ทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในปลายปี 2539 สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จนนำไปสู่การปฎิรูปเปลี่ยนแปลงระบอบเลือกตั้งธิปไตย ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มุ่งหมายให้... ยืมคำหมอประเวศ.. 'ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ และสร้างเสริมภาวะผู้นำ' เพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกาภิวัตน์ ในปี 2540



ทว่า การพาประเทศเดินเข้าสู่เส้นทางโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ของชนชั้นนำไทย ได้นำไปสู่ผลลัพธ์สองประการที่พวกเขาคาดไม่ถึง two great unexpected ของการเปิดประเทศรับโลกาภิวัตน์ สองสิ่งนั้นบั่นทอนพลังและคุกคามฐานะของชนชั้นนำไทยอย่างร้ายแรงที่สุด อะไรคือสิ่งที่คาดไม่ถึงสองอย่างต่อเนื่องจากโลกาภิวัตน์



หนึ่ง ในทางเศรษฐกิจ เกิดวิกฤตการเงินในเดือนกรกฎาคม 2540 เป็นความฉิบหายล่มจมครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจทุนนิยมไทยหลังจากนั้น จนชนชั้นนายทุนใหญ่ไทยถูกทำลายไป 65% หรือ 2 ใน 3 ตามการประเมินของคุณชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ ปี 2540 และหลังเกิดวิกฤตการเงิน ปรากฏว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย 100 แห่ง หรือกว่า 1 ใน 4 ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน กลุ่มธุรกิจไทยทั้งหมด 220 กลุ่ม มีกว่า 50 กลุ่ม หรือ 7 จาก 30 กลุ่มธุรกิจใหญ่ของไทยที่ต้องยกเลิกกิจการไป



สอง สิ่งที่คาดไม่ถึงทางการเมือง มันส่งผลสืบต่อ เปิดโอกาส นำไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ที่หลุดรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจให้เข้าสู่วงการเมืองโดยตรง เกิดการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้น ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้า หรือซีอีโอทางการเมืองของชนชั้นนายทุนไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 อันประจวบเหมาะกับวันครบรอบการปฏิวัติฝรั่งเศส ครบรอบ 209 ปีพอดี และการสถาปนาระบอบทักษิณ หรือระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยม ภายใต้อำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มทุนใหม่โลกาภิวัตน์ ในกลางปี 2546-2549



นี่ก็เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง โลกาภิวัตน์นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ และระบอบทักษิณ



ระบอบนี้ ได้อำนาจจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเป็นประชาธิปไตย แต่ใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม เพราะกดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน กดขี่ลิดรอนหลักนิติรัฐ คุกคามท้าทายระบอบเลือกตั้งธิปไตย ภายใต้พระราชอำนาจนำโดยตรง ในที่สุด ภายใต้ระบอบนี้ อำนาจนำทางการเมือง เป็นของกลุ่มทุนใหญ่โลกาภิวัตน์



อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเลือกเดินเส้นทางโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ จะนำพาชนชั้นการเมืองไทยไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และระบอบทักษิณ ปี 2546-2549 อย่างไม่คาดหมาย จนพลังและฐานะของพวกเขาถูกบั่นทอนคุกคามอย่างร้ายแรง



แต่กระนั้น กล่าวให้ถึงที่สุด แม้จะสะบักสะบอม เข็ดเขี้ยว ละล้าละลังเพียงไร ชนชั้นนำของไทยก็ไม่คิดจะบ่ายเบนหันเหออกไปจากทางฝันนี้โดยพื้นฐาน ทั้งนี้ ด้วยความจำเป็นทางภววิสัยของโลกปัจจุบันที่บังคับในเรื่องข้อจำกัดและผลประโยชน์ทางอัตวิสัยของพวกเขาเอง



ไหนล่ะ หลักฐาน? การที่รัฐบาลสุรยุทธ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลแรกที่เชิดชูเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นโดดเด่น เป็นแนวนโยบายหลัก ชนิดที่คงยากจะหารัฐบาลชุดใดจัดการได้เสมอเหมือน ได้ขยับปรับเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องนี้ จากเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ถึงนโยบายทางเลือกใหม่ ไปเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นนโยบายปรัชญาในการดำเนินชีวิต ตามคำที่เคยเสนอแนะของ สนช. ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สะท้อนว่า ที่สุดแล้ว ทางเดินของเศรษฐกิจไทย วิสัยทัศน์ของชนชั้นนำไทย จะไม่ไกลไปกว่า 'เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข'



'เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' ในความหมายที่ว่า พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ อันเป็นกลไกอำนาจสำคัญและจำเป็นในการบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่มาจากเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ให้เกิดประโยชน์ และพระองค์ทรงเป็นประมุขผู้ทรงชี้นำคุณธรรมทางเศรษฐกิจ ที่พสกนิกรควรยึดถือ ประพฤติปฏิบัติ ในการเดินเส้นทางสู่สายโลกาภิวัตน์ เสรีนิยมใหม่ใหม่นี้สืบไป ดังที่โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกและรัฐมนตรีอุตสาหกรรมชุดนี้ให้สัมภาษณ์ว่า



"ความจริง เศรษฐกิจพอเพียงก็คือการเอาคุณธรรมมาใส่ทุนนิยม ซึ่งก็คือหลัก 4 ป. ของท่านนายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย โปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด ประสิทธิภาพ"



เมื่อด้านหนึ่ง ไม่คิดขับจากเส้นทางเศรษฐกิจสายโลกาภิวัตน์เสรีนิยม แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่เอาระบอบทักษิณ อันเป็นผลลัพธ์สืบเนื่องทางการเมืองของมัน ฉะนั้น ทางเดียวที่จะทำได้คือ ต้อง 'ตัดตอนกลุ่มทุนใหญ่ทางการเมือง'



กระบวนการทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ที่ผ่านมานี้ ได้สร้างและขยายคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาสองกลุ่มในสังคมไทย



หนึ่ง กลุ่มทุนใหญ่ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก แล้วอาศัยมือยาวกว่าเพื่อนของตน หมายถึง เงินทุน ทักษะความรู้ความชำนาญสมัยใหม่ อิทธิพล เครือข่ายพวกพ้อง ฉวยโอกาสมือยาวนั้นไปคว้าเกาะเกี่ยวเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ที่ลงทุนในตลาดหุ้นและธุรกิจสินทรัพย์ การเงิน หุ้น ทั้งในและระหว่างประเทศ และเมื่อประสบความสำเร็จ ก็ทำให้ร่ำรวยผิดปกติอย่างเฉียบพลัน เช่น คุณทักษิณ ชินวัตร ญาติมิตร และพวกพ้วง แกนนำพรรคไทยรักไทย



คนอีกกลุ่มหนึ่ง คือคนจน คนชายขอบ ที่อยู่ไม่ได้ ไปไม่ถึง เป็นพวกตกหลุมดำระหว่างชนบทกับเมือง จะอยู่ในชนบททำนาทำไร่ต่อไปก็ไม่ได้ เพราะสูญเสียที่ดินทำกินและฐานทรัพยากรของชุมชนไปแล้ว แต่ไปเมืองก็ไม่ถึง เพราะขาดแคลนทั้ง ทุน ทักษะความรู้ ความชำนาญ สมัยใหม่ อิทธิพล เส้นสาย จนเกินกว่าจะลงหลักปักฐานสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นปัจเจกบุคคลประเภท 'สู้แล้วรวย' จึงกลายเป็นเหยื่อที่สร้างมาจากโลกาภิวัตน์ เพราะ 'มือสั้น' และถูกตีนที่มองไม่เห็น ถีบให้ใช้ชีวิต ทำมาหากินเสี่ยงโชคเสี่ยงภัย โดยไร้หลักประกันความมั่นคงในชีวิต ทำให้ค่อนข้างจนดักดาน เช่น เกษตรกรรายย่อย ยากจน ติดหนี้สินเรื้อรัง แรงงานรับจ้างในภาคชนบท คนขับแท็กซี่ คนขับสามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ชาวสลัม คนงานก่อสร้าง คนงานรับจ้างรายวัน เด็กขายพวงมาลัยตามสี่แยก



แรงงานภาคเกษตรกรรม บวกแรงงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบในเมืองเหล่านี้ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร แห่งเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คะเนว่ามีประมาณ 67% เป็นเสียงข้างมากของแรงงานทั่วประเทศ เทียบกับที่เหลือซึ่งประกอบด้วย ชนชั้นกลาง 15% แรงงานภาคอุตสาหกรรม 8% และอื่นๆ อีกราว 10% พวกเขาเหล่านี้เป็นฐานเสียงคะแนนข้างมากอย่างแน่นหนา ให้แก่แพคเกจนโยบายกับประชานิยมเอื้ออาทรต่างๆ ของพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนฯ ทั่วไปตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา นั่นคือ 11 ล้านเสียงในปี 2544 19 ล้านเสียงในปี 2548 และ 16 ล้านเสียงในปี 2549



เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดหลัง 14 ตุลา เหมือนที่คนชั้นกลางในเมือง และนักเลือกตั้งของคนชนบท เป็นกลุ่มคนเกิดใหม่หลัง 14 ตุลา จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมัยเผด็จการสฤษดิ์ ถนอม ประภาส คนเหล่านี้ใช้เวลาร่วม 2 ทศวรรษ หลังตุลาคม 2516 จนพฤษภาประชาธรรม 2535 ในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเข้าร่วมส่วนใช้อำนาจรัฐบ้าง ขอมีอำนาจรัฐบ้าง



ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในระยะผ่านอันยาวนาน แต่ระยะผ่านอันยาวนานของการเปลี่ยนอำนาจ ซึ่งคนสองกลุ่ม คือกลุ่มทุนใหญ่ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก และคนจนคนชายขอบ อันเป็นกลุ่มคนที่เกิดใหม่จากการพัฒนาเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ทุนนิยมใหม่ กำลังดิ้นรนต่อสู้ เพื่อเข้าร่วมส่วนใช้อำนาจรัฐบ้าง เช่นกัน



พวกเขาต้องการได้อำนาจรัฐมา ก็เพื่อใช้มันบริหารจัดการความเสี่ยงที่ควบมากับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ด้วยตัวเอง เพราะพวกเขาได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดหวาดเสียวจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ว่า การปล่อยให้ชนชั้นนำกลุ่มอื่น ไม่ว่านักเลือกตั้ง เทคโนแครต หรือข้าราชการ ไปบริหารจัดการเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์แทนพวกเขานั้น อาจทำให้พวกเขาถึงแก่ฉิบหาย ล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัว หรือตกงานตกอาชีพ ขาดที่พึ่งยามป่วยไข้ ต้องเอาลูกออกจากโรงเรียน พาครอบครัวซมซานกลับชนบท หรือติดคุกติดตะราง ค้ายาบ้า



ในแง่นี้ ระบอบทักษิณ ก็คือการขึ้นชุดกุมอำนาจรัฐโดยตรงของกลุ่มทุนใหญ่ แล้วต่อท่อภาครัฐไปอุปถัมภ์คนจนคนชายขอบ ผ่านโครงการประชานิยมเอื้ออาทรต่างๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มันคือระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยม ภายใต้อำนาจนำของพรรคการเมืองกลุ่มทุนใหญ่ ที่มีคนจน คนชายขอบ เป็นฐานเสียงพันธมิตร



อำนาจแท้จริงของระบอบทักษิณ จึงประกอบไปด้วยอำนาจทุน บวกคะแนนเสียงข้างมาก ทว่า ในทางการเมืองดำเนินผิดพลาด ด้วยรวบอำนาจรวมศูนย์ ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน บริหารโลกาภิวัตน์ด้วยกลุ่มทุนพวกพ้องเส้นสายของระบอบทักษิณ





ห้า : รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเกิดขึ้นในลักษณะปฏิบัติการของแนวร่วม ระหว่างรัฐราชการ ได้แก่ ทหาร ตุลาการ คือทหารที่จงรักภักดี กับประชาสังคม ได้แก่ชนชั้นกลางและชนชั้นนำนอกรัฐบาลภายใต้แกนนำของทหาร เพื่อโค่นอำนาจการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่



ปฏิบัติการทางการเมืองของคณะรัฐประหาร จนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ก็คือแบบฝึกหัดวิศวกรรมทางการเมืองที่จะหลีกเลี่ยงระบอบทักษิณ ด้วยการตัดตอนกลุ่มทุนใหญ่ทางการเมือง ในระหว่างนำพาประเทศเดินหน้าต่อไป บนเส้นทางเศรษฐกิจสายโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ตามแผนปฏิรูปการเมือง 4 ขั้นตอนของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน กล่าวคือ



หนึ่ง ยุบพรรคไทยรักไทย อันเป็นพรรคการเมืองกลุ่มทุนใหญ่ และศูนย์รวมเสียงข้างมากของคนจน คนชายขอบ สอง ดำเนินคดีการทุจริตคอรัปชั่น นำไปสู่การอายัดทรัพย์สินที่เป็นกำลังทุนในประเทศของกลุ่มทุนใหญ่ แกนนำพรรคไทยรักไทย โดย คตส. สาม พรรคแตก ส.ส.เริ่มกระจัดกระจาย แยกสลายกำลังนักเลือกตั้งมุ้งต่างๆ ออกไป สี่ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง เพื่อส่งต่อผ่องถ่ายอำนาจรัฐให้แก่พรรครัฐบาลใหม่ที่ไว้วางใจได้ ในความหมายพลเอกสนธิ ที่ต้องรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หมายถึงรักประเทศไทย รักสถาบัน ภายใต้การเตรียมการเลือกตั้งของรัฐบาล ที่มีตัวเองเป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย และกอ.รมน.แทนนายกรัฐมนตรี ตามมติครม.วันที่ 9 ตุลาคม 2550



รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ หรือชุดร่างกฎหมายเพื่อความมั่นคงของคณะรัฐประหารที่กำลังรอคิวออกตามมา ขัดต่อเงื่อนไขของความเป็นจริงจากแง่สัมพันธภาพทางอำนาจอย่างเก่าเคยเป็น โดยตัดตอน ลิดรอนช่องทางการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ ผ่านการเข้าพรรคโดยการเลือกตั้งของกลุ่มทุนใหญ่กับคนจนคนชายขอบ



ภาพสะท้อนทั้งหมดนี้ ปรากฏว่า ขบวนการภาคประชาชนส่วนหนึ่งหันไปยอมรับการรัฐประหารเพื่อราชบัลลังค์ของ คปค. เพื่อก่อตั้งเผด็จการทุนนิยมในลักษณะที่มืดบอดต่อ และละทิ้งมิติภารกิจด้านต่อต้านรัฐราชการเผด็จการ หลับหูหลับตาต่อความเป็นจริงทุกด้านที่ว่า รัฐราชการเผด็จการ และชนชั้นนำศักดินา รับใช้และเกี่ยวพันกับทุนนิยมโลกาภิวัตน์มาทุกยุค เรียกร้องให้ใช้พระราชอำนาจ เปลี่ยนนายกฯ ในลักษณะสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ ชักนำพาประชาชน ไปฟากพันธมิตรประชาชนเพื่อราชาธิปไตย ฉวยใช้ความเป็นวาทกรรมมรณะ เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพวกขวาจัด มาข่มขู่โจมตีผู้เห็นต่าง



ในทางกลับกัน ขบวนการต่อต้านรัฐประหารและเผด็จการทหารบางส่วน ก็ยังเสนอระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชน เชิดชูโลกาภิวัตน์ บวกประชาธิปไตย บวกความเป็นธรรมทางสังคม ขึ้นมาเป็นธงชาติไทยสามผืนในกระแสโลกาภิวัตน์ แม้ขณะที่ต่อต้านคัดค้านศักดินา เน้นการเลือกตั้งเป็นสารัตถะของประชาธิปไตย ในทำนองรัฐเลือกตั้ง มืดบอดต่อ และละทิ้งมิติด้านภารกิจต่อต้านทุนนิยม



หลับหูหลับตาต่อความจริงอีกด้านที่ว่า ประชาธิปไตยของกลุ่มทุนใหญ่โลกาภิวัตน์นั้น เผด็จอำนาจ กดขี่ลิดรอนสิทธิประชาชน และพื้นฐานกลับตาลปัตรไตรลักษณ์ทางความคิดของ อ.ปรีดี พนมยงค์ เพราะ อ.ปรีดีนั้น ชาตินิยม มากับประชาธิปไตย และมากับสังคมนิยม แต่สำหรับกลุ่มนี้ โลกาภิวัตน์ มากับประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคม



ในที่สุด สละละทิ้งพื้นที่ 'ชาติ' ให้อุดมการณ์ 'ราชาชาตินิยม' สละละทิ้งเวทีและวาทกรรมต่อต้านทุนนิยมให้กับวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ในที่สุด การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสามแนวทาง 75 ปีหลัง 2475 และ 34 ปีหลัง 2516 กระบวนการปฏิวัติกระฎุมพีไทยมาถึงทางแพร่ง ที่ตาบอดคนละข้าง แล้วแยกทางกันเดิน



หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ การปฏิวัติกระฎุมพีไทยได้เปลี่ยนสีแปรธาตุจากเดิม แนวทางตุลาคมที่ต้านรัฐราชการเผด็จการและต้านอำนาจทุนไปพร้อมกัน มาเป็น หนึ่ง แนวทางพฤษภาคมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่ต้านรัฐราชการเผด็จการศักดินา กับแนวทางกันยายนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ต้านอำนาจทุนด้านเดียว





พื้นที่ประชาชน ความหวังอันริบหรี่

ถึงแม้ปัญหาที่เราเผชิญอยู่จะสลับซับซ้อน ถึงแม้มิติที่เราเผชิญอยู่จะใหญ่โตมโหฬาร แต่ผมยังอยากจะจบปาฐกถาในวันนี้ด้วยความหวังเล็กน้อย



มรดกที่เราได้รับตกทอดมาจากการเสียสละของวีรชน 14 ตุลา และมาถึงมือเรา คือสิ่งที่ผมเรียกว่า 'พื้นที่ประชาชน' มันเป็นพื้นที่ของสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค เป็นพื้นที่ของ เอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคม เป็นพื้นที่ปลอด หรือพยายามจะต่อต้าน ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน และแน่นอน มันเป็นพื้นที่ของภราดรภาพด้วย



หลังวีรชน 14 ตุลา ก็ยังมีผู้ต่อสู้ หรือผู้สละชีวิต เพื่อปกป้องพื้นที่เหล่านี้ไว้ไม่ขาดสาย เช่น วีรชน 6 ตุลา วีรชนพฤษภาประชาธรรม วีรชนผู้เสียสละในชนบทป่าเขา รวมมาถึง ทนายสมชาย นีละไพจิตร และลุงนวมทอง ไพรวัลย์



ผมคิดว่าความหวังน่าจะอยู่ตรงนี้



ถ้าท่าน ถ้าเรา สามารถหลั่งน้ำตาอาลัยรัก ให้กับทนายสมชาย นีละไพจิตร และลุงนวมทอง ไพรวัลย์



ถ้าท่าน และเรา สามารถคัดค้าน ทั้งการใช้อำนาจทุน คุกคามข่มเหงรังแกสิทธิประชาชนของผู้ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ อย่างคุณสุภิญญา กลางรณรงค์



ถ้าเรา สามารถคัดค้าน ทั้งการใช้อำนาจรัฐคุกคามข่มเหงรังแกของผู้ต่อต้านรัฐประหาร อย่างคุณสมบัติ บุญงามอนรงค์ และคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย



ถ้าเราทำเช่นนั้นได้ ผมคิดว่า เรามีความหวังที่จะรักษาพื้นที่ประชาชน อันเป็นมรดกของวีรชน 14 ตุลาต่อไปได้ ไม่ว่าเราจะแตกต่างกัน หรือไม่ว่าเราจะเห็นไม่ตรงกันก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

สนใจส่งบทความร่วมเสวนาสาธารณะได้ที่bus4530219@yahoo.com
หรือไม่ก็เอาไปลงในเวทีสาธารณะ
ขอบคุณครับ